ความหมาย ความนิยาม คำจำกัดความ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง
1. เทคโนโลยีปลอดปลอม (Security Technology)
ปัจจุบันเทคโนโลยีปลอดปลอมเริ่มเข้ามามีบทบาทในสิ่งพิมพ์หลายประเภทมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแบบฟอร์มธุรกิจทั่ว ๆ ไป ธนบัตร สลาก ซองบุหรี่ หรือแสตมป์ เพราะบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งยา และสินค้าแบรนด์เนม ต่างก็ต้องการสิ่งที่เข้าช่วยป้องกันการปลอมแปลงสินค้าทั้งสิ้น ระดับการสร้างเทคโนโลยีปลอดปลอมบนสิ่งพิมพ์เหล่านี้แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1.1. ระดับสูง เทคโนโลยีนี้จะต้องใช้วิธีทางพิสูจน์หลักฐานในห้องปฏิบัติการ (Forensic) เข้ามาช่วยในการตรวจสอบ เช่น การพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ DNA หมึกนำไฟฟ้า หรือ หมึกที่มีการฝังรหัสทางคอมพิวเตอร์ โดยจะต้องมีการถอดรหัสข้อมูลในห้องปฏิบัติการทางเคมีและฟิสิกส์ (ภาพที่ 1.1 และ 1.2.)

ภาพที่ 1.1 ตัวอย่างธนบัตรที่พิมพ์ด้วยหมึก DNA

ภาพที่ 1.2 รหัสข้อมูลที่บรรจุอยู่ในหมึกพิมพ์
1.2 ระดับกลาง เทคโนโลยีกันปลอมจะถูกซ่อน มองไม่เห็น ต้องใช้อุปกรณ์โดยเฉพาะในการตรวจจับ (Covert – Field detection) เช่น การใช้ไมโครชิพ RFID ฝังติดในกระดาษ ที่ต้องใช้คลื่นวิทยุในการตรวจจับ แสดงข้อมูลลักษณะเฉพาะ หรือ วัตถุเคมี (Chemical markers) ที่สามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แสดงลักษณะเฉพาะของผสิ่งพิมพ์นั้นได้ (ภาพที่ 1.3)
1.3. ระดับกึ่งกลางกึ่งต่ำ (Semi-covert – Field detection with simple tools) เราจะสามารถเห็นตำแหน่งที่อยู่ของเครื่องหมายปลอดปลอมได้ ซึ่งเราจะสามารถพิสูจน์ตัวจริงของผลิตภัณฑ์ได้นั้น อาจจะต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่นเข้ามาช่วย ตัวอย่างเช่น
– การพิมพ์ภาพความละเอียดสูง ขนาดเล็ก (Microprinting) ในภาพที่ 1.4 ที่ตาเปล่ามองไม่ออกว่ารูปลักษณะเป็นอย่างไร ต้องใช้กล้องขยายส่องผ่านดู วิธีนี้ต้องใช้เทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาช่วย
– ใช้ลักษณะสิ่งบกพร่อง (defects) ในกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้น เป็นตัวบ่งชี้
– ใช้หมึกพิมพ์เรืองแสงได้ เมื่อถูกฉายด้วยรังสียูวี หรืออินฟราเรด (UV /IR inks) ตัวอย่างในภาพที่ 1.5
– ใช้หมึกพิมพ์ที่มีส่วนผสมของสารแม่เหล็ก (MICR) เพื่อให้สิ่งพิมพ์นั้นมีสมบัติเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้
– ใช้หมึกเปลี่ยนสีด้วยความร้อน (thermochromic inks) ทำให้ตำแหน่งภาพบริเวณนั้นอาจจะหายไปหรือเปลี่ยนเป็นสีใหม่ (รูปที่ 6)
– การใช้รหัสแท่ง / ตัวเลขแปรเปลี่ยน (Barcoding and variable data)

ภาพที่ 1.3 วัตถุเคมีที่ถูกฝังในเนื้อกระดาษ สามารถมองเห็นได้ผ่านอุปกรณ์ตรวจจับ

ภาพที่ 1.4 การพิมพ์ภาพตัวอักษรขนาดเล็ก

ภาพที่ 1.5 การพิมพ์แบบเรืองแสงด้วย IR และ UV

ภาพที่ 1.6 หมึกเปลี่ยนสีด้วยความร้อน
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเทคโนโลยีระดับนี้คือ ได้มีการนำเทคนิค Track and Trace หรือการตรวจสอบข้อมูล ผ่านรหัส QR Code เข้ามาช่วย ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องใช้ความรู้ด้านไอทีเข้ามาประยุกต์ด้วย การตรวจสอบนี้ สามารถทำได้ทั่วไปผ่านแอพพลิเคชันในแทบเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือได้ ดังตัวอย่างดังภาพที่ 1.7
1.4. ระดับต่ำ เทคโนโลยีนี้จะสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องผ่านอุปกรณ์ช่วย (Overt – Field detection) ดังตัวอย่างแสดงในภาพที่ 1.8 เช่น กระดาษพิเศษที่ผสมด้วยเส้นใยเฉพาะ การใช้แผ่นโฮโลแกรมผนึกติดกับตัวผลิตภัณฑ์ หมึกพิมพ์ปรากฏเปลี่ยนสีหรือเหลือบเมื่อมองที่มุมต่าง ๆ กัน การสร้างลายน้ำในเนื้อกระดาษ (ในขั้นตอนทำกระดาษ) การพิมพ์ภาพนูน (tactile effects) การเคลือบวาร์นิชผิวหยาบ (textured varnish) และการซ่อนภาพหรือตัวอักษร (pantograph) ในพื้นหลังของสิ่งพิมพ์ จะมองเห็นได้เมื่อนำไปถ่ายสำเนา (copy-evident paper)

สีเหลือบในมุมมองต่าง ๆ

โฮโลแกรม

ตัวอักษรซ่อนจะเห็นได้เมื่อถูกถ่ายสำเนา

แถบฉลากเมื่อถูกดึงออก สีจะหลุดออก
ภาพที่ 2.8 ตัวอย่างลักษณะปลอดปลอมระดับต่ำ
2. ประเภทของการพิมพ์ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ มีอยู่ 6 ประเภทคือ
2.1. การพิมพ์โดยแม่พิมพ์ร่องลึก (Intaglio Printing) วิธีการพิมพ์โดยแม่พิมพ์ร่องลึก (Intaglio Techniques) เป็นกรรมวิธีการทำภาพพิมพ์ที่ใช้หลักการตรงกันข้ามกับ Relief Techniques คือ แม่พิมพ์มีความนูนและร่องลึกเช่นเดียวกัน แต่ส่วนที่สร้างให้เกิดเป็นรูปคือส่วนที่เป็นร่องลึกของแม่พิมพ์ จะทำแม่พิมพ์โดยการกัดแบบให้เป็นร่องลงไปในแม่พิมพ์ ส่วนที่เป็นผิวเรียบด้านหน้าใช้น้ำยาเคลือบผิวเพื่อกันหมึกไหลมาเกาะ ในการพิมพ์เมื่อนำหมึกทาลงบนแม่พิมพ์จะต้องกดหมึกให้ลงไปในร่องลึก หมึกจึงจะลงไปขังในร่องที่กัดไว้ และเช็ดผิวบนให้สะอาด หลังจากนั้นนำกระดาษที่ต้องการพิมพ์วางทับบนแม่พิมพ์ หมึกก็จะติดออกมาตามต้องการ การพิมพ์แบบนี้จะต้องอาศัยแท่นพิมพ์ที่มีแรงกดสูงเพื่อกดกระดาษให้ลงไปดูดซับหมึกขึ้นมาได้ เทคนิคที่รวมกันอยู่ภายใต้กรรมวิธีนี้ เช่น แม่พิมพ์เอทชิ่ง (Etching) แม่พิมพ์แอควะทินท์ (Aquatint) แม่พิมพ์ดรายพอยส์ (Dry point) แม่พิมพ์เมซโซทินท์ (Mezzotint) แม่พิมพ์โลหะแกะลายเบา (Line engraving) เป็นต้น ระบบการพิมพ์ Intaglio นี้เป็นระบบการพิมพ์ขั้นสูง ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง มีขบวนการพิมพ์ซับซ้อน ช่างพิมพ์ต้องมีความชำนาญพิเศษ งานพิมพ์ประเภทนี้เป็นชนิดที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม ให้ลายเส้นที่สวยงาม มีความคมชัดสูง ตัวพิมพ์จะนูนทั้งภาพลายเส้นและตัวหนังสือ ลายเส้นในหนึ่งเส้นสามารถพิมพ์ได้หลายสี สามารถตรวจสอบได้ง่ายและลอกเลียนแบบได้ยาก นิยมใช้พิมพ์เอกสารสำคัญเพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือทำเลียนแบบ ปัจจุบันระบบการพิมพ์ชนิดนี้นำมาใช้ในการพิมพ์ธนบัตร หรือเอกสารสำคัญ ๆ ของทางราชการ โดยเฉพาะหนังสือเดินทางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
2.2 การพิมพ์โดยแม่พิมพ์พื้นแบน (Planographic printing) แม่พิมพ์ชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นแผ่นแบน (Plate) การพิมพ์จะอาศัยหลักการทางเคมี คือ เมื่อจัดทำภาพบนแผ่นโลหะแบนแล้ว คุณสมบัติที่ต้องการคือ เมื่อทาหมึกลงบนแผ่นนั้นส่วนที่เป็นภาพจะดูดหมึกไว้ ส่วนที่ไม่มีภาพคือไม่ต้องการพิมพ์จะไม่ดูดหมึก เมื่อนำไปกดทับกระดาษหมึกก็จะติดบนกระดาษเป็นภาพที่ต้องการได้ การพิมพ์แบบนี้เป็นที่นิยมมากเรียกว่าระบบออฟเซท (Offset) เหมาะสำหรบการพิมพ์ตัวหนังสือและภาพหลายเส้น ลงบนแผ่นกระดาษ แผ่นโลหะ หรือผ้าก็ได้
2.3 การพิมพ์ออฟเซท (Offset Printing) การพิมพ์ออฟเซทเป็นวิธีการพิมพ์แบบพื้นแบนอีกวิธีหนึ่งที่ใช้แม่พิมพ์ทำด้วยแผ่นโลหะอลูมิเนียม หรือเป็นแผ่นสังกะสี หรืออาจทำจากกระดาษ หรือเป็นแผ่นพลาสติกก็ได้ การเลือกใช้แผ่นแม่พิมพ์ชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนในการพิมพ์ แม่พิมพ์โลหะ สามารถพิมพ์ได้เป็นจำนวนมากเป็นหมื่น ๆ แผ่น การพิมพ์แบบออฟเซทมีลักษณะที่พิเศษแตกต่าง จากวิธีการอื่น คือมีลูกโมทรงกระบอกอย่างน้อย 3 ลูก ทำหน้าที่ดังนี้
2.3.1 ลูกโมใช้หุ้มแผ่นแม่พิมพ์ อาจเป็นแผ่นโลหะหรือกระดาษก็ได้ เรียกว่า โมแม่พิมพ์ (Plate Cylinder) ลูกโมแม่พิมพ์ จะมีลักษณะกลมเหมือนท่อโลหะขนาดใหญ่ มีขอเกี่ยวแผ่นแม่พิมพ์หรือเพลทให้ตรึงแน่นไม่เคลื่อนที่ติดกับ ลูกดม เพราะแผ่นเพลท จะต้องถูกับลูกกลิ้งหมึกและลูกกลิ้งน้ำอยู่ตลอดเวลา ถ้าเคลื่อนที่เพียงเล็กน้อย ตำแหน่งของภาพจะ เคลื่อนไปจะมีปัญหากับการพิมพ์ สอดสีหรือการพิมพ์หลายเพลท
2.3.2 ทำหน้าที่รับภาพจากแผ่นแม่พิมพ์ เรียกว่าลูกโมยาง (Blanket Cylinder)
2.3.3 ทำหน้าที่กดกระดาษให้แนบกับลูกโมยาง เพื่อให้หมึกติดเป็นภาพลงบนกระดาษ (Impression cylinder)
2.4 การพิมพ์โดยแม่พิมพ์นูน (Relief Printing) การพิมพ์วิธีนี้เป็นการแกะหรืออัดบล็อค หรือการใช้ตัวอักษรหล่อเป็นตัวนูน เมื่อนำหมึกทาลงบนหน้าของบล็อค แล้วนำไปกดทับบนกระดาษก็จะได้ภาพบนกระดาษนั้น แม่พิมพ์ไม่ว่าจะเป็นภาพหรือตัวอักษรจะต้องกลับซ้ายขวา เพราะการพิมพ์จะเหมือนกับการกดด้วยตรายาง ภาพจะกลับเป็นจริงบนกระดาษ แม่พิมพ์อาจทำได้หลายวิธี เช่น การแกะด้วยมือ การหล่อหรือจะใช้วิธีการแกะบล็อคก็ได้ โดยเฉพาะแม่พิมพ์เป็นภาพจากภาพถ่าย สำหรับวิธีการหล่อส่วนมาก จะหล่อเป็นตัวอักษรนำมาเรียง เรียกว่า ตัวเรียงพิมพ์ (Letter press) จึงเรียกว่าการพิมพ์แบบตัวเรียง (Letter Press Printing)
2.5 การพิมพ์โดยแม่พิมพ์ลายฉลุ (Screen-Process Printing) การพิมพ์วิธีนี้ เป็นวิธีพิมพ์ที่ใช้หลักการง่ายๆ คือ การใช้แม่พิมพ์ที่ทำด้วยผ้าบาง ๆ แต่มีความเหนียว โดยมีจุด ประสงค์ว่าถ้าบริเวณใดที่ไม่ต้องการให้หมึกผ่านก็บังส่วนนั้น เมื่อทำการพิมพ์จะวางแม่พิมพ์ทับบนกระดาษและปาดหมึกลง บนแม่พิมพ์ที่วางทับอยู่นั้น ส่วนที่เปิดไว้หมึกก็จะไม่สามารพผ่านลงไปติดกระดาษได้ ส่วนที่ไม่ได้ปิดไว้หมึกก็จะลงไปติดกระดาษ ที่รองอยู่ด้านล่าง ทำให้ได้ภาพตามที่ต้องการ การสร้างแม่พิมพ์ลายฉลุมี 3 วิธีคือ
2.5.1 การฉลุด้วยมือ (Hand Cut Stencil)
2.5.2 การใช้วิธีการถ่ายภาพ (Photo Stencil)
2.5.3 การใช้เครื่องปรุไขอิเล็คโทรนิคส์
2.6 การพิมพ์ด้วยแสงโดยวิธีการถ่ายเอกสาร (Photographic Printing) ในปัจจุบันเครื่องถ่ายเอกสารนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ ด้านการติดต่องาน หรือทางด้านการศึกษา หลักการอย่างง่าย ๆ ในการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นลำดับขั้นตอนดังนี้
2.6.1 แสงสว่างจากหลดไฟส่องไปกระทบกับต้นฉบับและสะท้อนภาพไปยัง Drum
2.6.2 เกิดไฟฟ้าสถิตบนผิว Drum บริเวณที่ไม่ได้รับแสงสะท้อนที่เป็นภาพ
2.6.3 ผงแม่เหล็กที่อยู่ในกล่องรวมกับผงหมึกถูกส่งออกมาเกาะที่ผิว Drum เฉพาะบริเวณที่เป็นภาพ
2.6.4 แผ่นกระดาษเคลื่อนที่ผ่าน
2.6.5 เกิดประจุที่มีกำลังสูงกว่า บนเส้นลวดใต้แผ่นกระดาษที่กำลังเคลื่อนที่ การเคลื่อนที่ของกระดาษจะ สัมพันธ์กับ Drum
2.6.6 ผงเหล็กจะพาผงหมึกลงมาที่กระดาษ ที่จริงแล้วจะมาที่เส้นลวดแต่มีกระดาษ ขวางอยู่ผงจึงติดอยู่ บนกระดาษ ภาพจึงมาปรากฏบนกระดาษเพราะมีผงหมึกที่ถูกดูดลงมาตามลักษณะของภาพ
2.6.7 กระดาษที่มีภาพปรากฏ เคลื่อนที่ผ่านลูกกลิ้งความร้อนและอัดให้ผงหมึกละลายติดแน่นเป็นภาพที่คง ทนตามต้องการ
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561